Structure

 รายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตร

   วัตถุประสงค์
  โครงการ “หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์”
  (PH. D (PUBLIC ADMINISTRATION)
  เน้นสหวิทยาการและสังคมศาสตร์ประยุกต์ โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
  1. เพื่อผลิตนักบริหารทั้งในภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจเอกชน และองค์การที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร
  2. เพื่อผลิตนักวิชาการที่ต้องการความรู้ทางรัฐประศาสนศาสตร์และการจัดการ
  3. เพื่อทำการค้นคว้าวิจัย และแสวงหากระบวนการทัศน์ใหม่ เพื่อพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการและเพื่อผลประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหาร
  4. เพื่อผลิตอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาอื่นๆที่ต้องการผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางรัฐประศาสนศาสตร์โดยตรง
  5. เพื่อใช้เป็นหลักในการพัฒนาการเรียนการสอนในสาขาวิชานี้ ซึ่งนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
  6. เพื่อผลิตบุคลากรที่ใช้วิชาชีพ และนักวิชาการที่ต้องการความรู้ ทางการบริหาร
  7. เพื่อเตรียมตัวก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนักบริหารในหน่วยงานวิชาชีพและวิชาการ เช่น ผู้บริหารในโรงพยาบาล ผู้บริหารในโรงงานอุตสาหกรรม ผู้บริหารในโรงแรม เป็นต้น

   คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
  ผู้เข้าศึกษาต้องเป็นผู้สำเร็จปริญญาโทสาขาใดก็ได้ จากสถาบันการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงาน ก.พ.รับรอง

   ระบบการศึกษา
  การจัดการศึกษาเป็นระบบทวิภาค โดยแบ่งการศึกษาในปีการศึกษาหนึ่งๆ ว่าเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ ใช้เวลาในการศึกษา ภาคละ 16 สัปดาห์ และภาคฤดูร้อนไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์ การเรียนการสอนจัดให้มีขึ้นนอกเวลาราชการแต่เป็นหลักสูตรเต็มเวลา ซึ่งหมายความว่านักศึกษา ต้องใช้เวลาอย่างเต็มเวลา เพื่อให้สำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรได้

   โครงสร้างของหลักสูตร
  หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มีจำนวนหน่วยกิตที่ต้องศึกษารวม 60 หน่วยกิต ประกอบด้วย
   - หมวดวิชาหลัก 15 หน่วยกิต
   - หมวดวิชาบังคับเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัย 6 หน่วยกิต
   - หมวดวิชาเอก และดุษฎีนิพนธ์ 39 หน่วยกิต
  รวม 60 หน่วยกิต

  หมวดวิชาเอกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มวิชา นักศึกษาจะต้องเลือกเรียนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังต่อไปนี้
  - กลุ่มวิชาที่ 1 นโยบายสาธารณะ
  - กลุ่มวิชาที่ 2 การจัดการทรัพยากรมนุษย์
  - กลุ่มวิชาที่ 3 การจัดการภาครัฐและเอกชน
  - กลุ่มวิชาที่ 4 การจัดการมหานคร
  (เปิดสอนเฉพาะสาขาที่มีผู้เรียนครบ 10 คน)

  นักศึกษาจะต้องสอบ Qualifying Examination และสอบปากเปล่า ภายหลังจากการศึกษาครบหมวดวิชาหลัก หมวดวิชาบังคับ หมวดวิชาเอก และมีผลสอบภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด ถ้านักศึกษาผ่านการสอบทุกขั้นตอนแล้วจะได้รับสภาพเป็น candidate เพื่อเขียนดุษฎีนิพนธ์ต่อไป และเมื่อเขียนดุษฎีนิพนธ์เสร็จ และผ่านการสอบดุษฎีนิพนธ์ นักศึกษาจะได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

  นอกจากอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว โครงการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ยังได้เรียนเชิญอาจารย์พิเศษภายนอก ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญตลอดจนมีประสบการณ์ ในการสอนวิชารัฐประศาสนศาสตร์มาบรรยายในลักษณะวิชาการต่างๆ ตลอดหลักสูตร

   หลักเกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษา
  การคัดเลือกนักศึกษาใช้วิธีตรวจสอบ และประเมินศักยภาพ ด้านสติปัญญาของผู้สมัคร จากผลการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท หนังสือรับรองประสบการณ์หรือผลการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาความสามารถทางภาษาอังกฤษ โดยดูจากผลการสอบ TOEFL หรือ IELTS ที่มีการสอบมาแล้วไม่เกิน 2 ปี จนถึงวันที่ยื่นใบสมัคร หรือถ้าไม่มีผลการสอบ TOEFL หรือ IELTS มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีการสอบ RIL Testของสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ ผู้สมัครทุกคนจะต้องเข้าสอบสัมภาษณ์ ตามวันและเวลาที่กำหนด คะแนนที่ได้จากการประเมินศักยภาพความสามารถทางภาษาอังกฤษ (ถ้ามี) และการสอบสัมภาษณ์ จะนำมาประมวลผลเพื่อคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมให้เข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาเอกทางรัฐประศาสนศาสตร์

หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง
คณะ สำนักงานอธิการบดี สถาบัน / ศูนย์ สำนัก / อื่นๆ